พลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) มีคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งเม็ดพลาสติก PP ยังมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ทำให้เหมาะกับการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทต่าง ๆ โดยบทความนี้เราจะพาไปรู้จัก 5 ประเภทของพลาสติก PP ลงลึกถึงคุณสมบัติ และการนำไปใช้งาน
คุณสมบัติทั่วไปของพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP)
พลาสติกโพลีโพรพิลีน หรือพลาสติก PP คือพลาสติกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติที่โดดเด่นหลายข้อ คือ
- โปร่งใส
- มันวาว
- น้ำหนักเบา
- แข็งแรง ทนทาน
- ทนความร้อน
- กันน้ำ กันสารเคมี
- สามารถแปรรูปได้ง่าย
- ราคาถูก
- ไม่เป็นพิษ
- ไม่ย่อยสลายทางชีวภาพ
สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในปัจจุบันมีของใช้ต่าง ๆ มากมายที่ผลิตจากพลาสติกชนิดนี้ ซึ่งพลาสติก PP จะมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ทำให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถเลือกใช้พลาสติก PP ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสเป็กที่ต้องการได้
5 ประเภทพลาสติก PP
1. พลาสติก PP โฮโมโพลิเมอร์ (PP Homopolymer)
พลาสติก PP โฮโมโพลิเมอร์ เป็นพลาสติกที่มีความบริสุทธิ์ ซึ่งประกอบไปด้วยโมเลกุลของโพรพิลีนเพียงชนิดเดียว มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน แต่ค่อนข้างเปราะ จึงนิยมผสมกับพลาสติกประเภทอื่นเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของเนื้อพลาสติกให้ดีขึ้น
โดยพลาสติกโพลิโพรพิลีนประเภทนี้ มักนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากมีความปลอดภัย ไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีตกค้าง ดังนั้นจึงสามารถใช้บรรจุอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงใช้ผลิตเป็นภาชนะแบบต่าง ๆ ได้ด้วย
2. พลาสติก PP โคพอลิเมอร์ (PP Copolymer)
พลาสติก PP โคพอลิเมอร์ เป็นพลาสติกโพลิโพรพิลีนที่ผสมด้วยโมเลกุลของสารประกอบอื่น ๆ เช่น เอทิลีน บิวทีน เป็นต้น
คุณสมบัติของพลาสติก PP โคพอลิเมอร์คือ มีความแข็งแรง ทนทานกว่าแบบโฮโมโพลิเมอร์ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นและเหนียวมากกว่า แต่จะสูญเสียความปลอดภัยต่ออาหารไป
โคพอลิเมอร์จึงนิยมนำไปใช้ผลิตสินค้าที่ต้องการความทนทานและความยืดหยุ่นสูง เช่น ถังน้ำมัน ท่อส่งสารเคมี บรรจุภัณฑ์อุปกรณ์กีฬา รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภท
PP โฮโมโพลิเมอร์ VS PP โคพอลิเมอร์ ต่างกันอย่างไร ?
โฮโมโพลิเมอร์ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความแข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนสูง และมีความใส นิยมใช้ทำบรรจุภัณฑ์อย่าง ขวด ถัง ภาชนะ
โคพอลิเมอร์ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความยืดหยุ่น ทนแรงกระแทก ใสหรือขุ่น นิยมใช้ทำฟิล์ม แผ่น ท่อ ชิ้นส่วนยานยนต์
3. พลาสติก PP อิมแพค (PP Impact Copolymer)
พลาสติก PP อิมแพค เป็น PP โคพอลิเมอร์ที่ผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติเพิ่มเติม โดยผสมกับพลาสติกเทอร์โมพลาสติกอื่น ๆ เช่น พอลิเอทิลีน
คุณสมบัติของ PP อิมแพคคือ มีความแข็งแรงทนทาน สามารถทนแรงกระแทกได้ดี จึงเหมาะสำหรับใช้งานกลางแจ้ง หรือสภาพแวดล้อมที่รุนแรง
PP อิมแพคนิยมใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนยานพาหนะ เครื่องจักร อุปกรณ์กีฬา บรรจุภัณฑ์สินค้าเกษตร เนื่องจากมีความทนทานสูงและต้านทานแรงกระแทกได้ดี
4. พลาสติก PP เติมสารเติมแต่ง (PP Filled)
พลาสติก PP เติมสารเติมแต่ง หมายถึง พลาสติก PP ที่มีการเติมสารเติมแต่งต่าง ๆ เข้าไป เช่น แร่ธาตุ ไฟเบอร์ หรือแก้ว เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้เหมาะสมกับการใช้งาน
คุณสมบัติของพลาสติก PP ที่เติมสารเติมแต่ง จะขึ้นอยู่กับสารเติมแต่งที่ใช้ เช่น สารเติมแต่งแร่ธาตุจะทำให้พลาสติกมีความแข็งแรง ทนทาน ต้านทานต่อการขีดข่วนได้ดี ขณะที่หากมีการเติมด้วยไฟเบอร์จะทำให้มีความทนแรงดึงดีขึ้น เป็นต้น
พลาสติก PP เติมสารเติมแต่ง จึงนำไปใช้ผลิตชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์กีฬาบางประเภท
5. พลาสติก PP รีไซเคิล (PP Recycle)
พลาสติก PP รีไซเคิล คือ พลาสติกโพลิโพรพิลีนที่ผลิตจากการนำเศษพลาสติก PP กลับมาหลอมรวมและขึ้นรูปใหม่
ซึ่งคุณสมบัติของ PP รีไซเคิล อาจด้อยกว่าพลาสติก PP แบบใหม่เล็กน้อย แต่ก็ยังคงมีความแข็งแรง ทนทาน และทนต่อสารเคมีได้ดี ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับสารเคมีอื่น ๆ
ข้อดีของการใช้พลาสติก PP รีไซเคิล คือสามารถช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและประหยัดทรัพยากร จึงนิยมนำมาใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค พื้นรองพรมปูพื้น หรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด
ตารางสรุปคุณสมบัติ และตัวอย่างการใช้งานพลาสติก PP แต่ละประเภท
ประเภทของพลาสติก PP | คุณสมบัติ | การใช้งานที่พบได้บ่อย |
---|---|---|
PP โฮโมโพลิเมอร์ (PP Homopolymer) | แข็งแรง ทนทาน ใส ทนความร้อนสูง | บรรจุภัณฑ์อาหาร ขวด ถัง และภาชนะ |
PP โคพอลิเมอร์ (PP Copolymer) | เหนียว ยืดหยุ่น ใส ทนความร้อนปานกลาง | ฟิล์ม แผ่น ท่อพลาสติก และชิ้นส่วนยานยนต์ |
PP อิออน (PP Impact Copolymer) | แข็งแรง ทนทาน ทนความร้อนสูง ขุ่น | ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์กีฬา บรรจุภัณฑ์สินค้าเกษตร |
PP เติมสารเติมแต่ง (PP Filled) | คุณสมบัติขึ้นอยู่กับสารเติมแต่ง โดยส่วนมากจะเสริมให้แข็งแรง ทนทานมากยิ่งขึ้น | ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์กีฬาบางประเภท |
PP รีไซเคิล (PP Recycle) | ราคาถูก แข็งแรง ทนทาน อาจมีเนื้อขุ่นกว่า | ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ท่อ และแผ่นพลาสติกหลายรูปแบบ |
วิธีการขึ้นรูปพลาสติก PP ที่ได้รับความนิยม
พลาสติก PP สามารถขึ้นรูปได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับรูปทรงและคุณสมบัติที่ต้องการ
- การฉีดพลาสติก (Injection Molding)
- การอัดรีดพลาสติก (Extrusion Molding)
- การเป่าพลาสติก (Blow Molding)
- การขึ้นรูปแบบรีด (Thermoforming)
- การอัดขึ้นรูป (Compression Molding)
บริษัท ธนวัฒน์อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต (2001) จำกัด มีเม็ดพลาสติก PP หลากชนิด และพลาสติกประเภทอื่น ๆ คุณภาพดี ผลิตในประเทศ และต่างประเทศให้เลือกซื้อมากมายตามความต้องการใช้งาน จัดจำหน่ายในราคาไม่แพง พร้อมให้คำแนะนำในการเลือกเม็ดพลาสติกให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้ หากสนใจปรึกษาเราได้เลย
ข้อมูลอ้างอิง
- วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์เบื้องต้น บทที่ 10 สารเติมแต่งพอลิเมอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จาก www.science.mju.ac.th/chemistry/download/s_muangpil/คม%20441%20บทที่%2010%20สารเติมแต่งพอลิเมอร์.pdf
- PP (Polypropylene). สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.recycledplastic.com/pp-polypropylene/
- Polypropylene (PP) Plastic — Complete Guide. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จาก https://medium.com/@dms.specialchem/polypropylene-pp-plastic-complete-guide-4dfa70a7fb66
- Top 4 Types of Polypropylene: What to Select and When?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จาก https://omnexus.specialchem.com/tech-library/article/polypropylene-types
- What’s the Difference Between Polypropylene Types?. สืบค้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.machinedesign.com/community/article/21837192/whats-the-difference-between-polypropylene-types