Back
Back

ปัญหางานฉีดพลาสติก สาเหตุ และวิธีแก้ไขในเบื้องต้น


สิ่งหนึ่งที่โรงงานพลาสติกต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้งก็คือ ปัญหาในงานฉีดพลาสติก ทำให้ชิ้นงานมีตำหนิหรือเกิดริ้วรอย ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น อย่าเพิ่งตกใจ เพราะสามารถแก้ไขได้ โดยสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่คุณภาพของเม็ดพลาสติก แม่พิมพ์ เครื่องฉีด การปรับตั้งค่า ไปจนถึงช่างในโรงงาน โดยปัญหางานฉีดพลาสติกที่พบบ่อย ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ชิ้นงานเกิดรอยไหม้

หลายครั้งที่กระบวนการขึ้นรูปพลาสติกเกิดปัญหารอยไหม้ในตัวชิ้นงาน ทำให้เป็นรอยสีดำหรือสีสนิมบริเวณขอบของชิ้นงาน ทำให้เกิดความเสียหาย สาเหตุมักจะเกิดจากมีความร้อนสูงกะทันหันจากอากาศที่อัดตัวในตำแหน่งที่พลาสติกมาบรรจบกัน หรือบางทีอาจจะเกิดจากอุณหภูมิของพลาสติกเหลวที่สูงเกินไป หรือเกิดจากการเสียดสีของพลาสติกเหลวกับแม่พิมพ์

วิธีแก้ไข

  • เพิ่มความเร็วในการฉีดจังหวะแรก เพื่อลดความเสี่ยงที่อากาศจะติดอยู่ในพิมพ์
  • ลดอุณหภูมิของพลาสติกเหลวและแม่พิมพ์ลง เพื่อป้องกันการไหม้ของเนื้อพลาสติก
  • ขยายช่องระบายอากาศ เพื่อลดปัญหาอากาศที่ค้างอยู่ที่พิมพ์

2. ชิ้นงานเกิดรอยพ่น

หากว่าชิ้นงานของเราเกิดรอยพ่น สีไม่สม่ำเสมอ เหมือนมีรอยขาว ๆ ติดอยู่ที่ชิ้นงาน มักจะเกิดจากพลาสติกเหลวเย็นตัวไม่พร้อมกับ อาจจะเป็นเพราะว่าฉีดพลาสติกเข้าไปเร็วเกินไป แม่พิมพ์หรือพลาสติกเหลวอุณหภูมิต่ำจนเกินไป หรือทางเข้า (Gate) เล็กเกินไป ทำให้พลาสติกเหลวที่เข้าไปก่อนเย็นตัวไวกว่า

วิธีแก้ไข

  • ลดแรงดันและความเร็วในการฉีดพลาสติกเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์ เพื่อให้ชิ้นงานเย็นเท่ากัน
  • เพิ่มอุณหภูมิของพลาสติกและแม่พิมพ์ให้สูงขึ้น
  • เพิ่มความกว้างของทางเข้า หรือออกแบบแม่พิมพ์ให้ฉีดพลาสติกในแนวขวางแทนแนวยาว ลดโอกาสการเกิดรอยพ่น

3. ชิ้นงานแตกร้าว

ปัญหาชิ้นงานแตกร้าว เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่โรงงานฉีดพลาสติกเจออยู่บ่อยครั้ง ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณทางเข้าหรือตำแหน่งสุดท้ายที่พลาสติกไหลเข้าสู่แม่พิมพ์ รอยแตกสามารถสังเกตเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนแกะพิมพ์ หรือตอนที่ทิ้งชิ้นงานเอาไว้ประมาณ 2-3 วัน มักจะเกิดจากการที่ชิ้นงานติดแม่พิมพ์มากเกินไป

วิธีแก้ไข

  • เพิ่มเวลาในการหล่อเย็นได้นานขึ้น
  • ใช้อุณหภูมิพลาสติกเหลวต่ำลงและเพิ่มอุณหภูมิของแม่พิมพ์ให้สูงขึ้น
  • ลดเวลาและลดความดันในการย้ำลง
  • ลดเวลาในการฉีดจังหวะแรกลง เพื่อให้ชิ้นงานไหลผ่านตัวแม่พิมพ์ที่มีความหนาแตกต่างกันช้าลง

4. ชิ้นงานเกิดครีบ หรือรอยแหว่ง

ปัญหางานฉีดพลาสติกที่พบบ่อยอีกรูปแบบหนึ่งคือ การเกิดรอยครีบหรือรอยแหว่ง ซึ่งเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป

การเกิดรอยครีบ จะเป็นชิ้นงานที่มีส่วนเกินออกมาจากแม่พิมพ์ มักเกิดจากการมีช่องว่างเกิดขึ้น และแรงดันพลาสติกในแม่พิมพ์สูงเกินไป ส่วนรอยแหว่งมักเกิดจากพลาสติกไหลเข้าแม่พิมพ์ช้าจนเกิดไป ทำให้พลาสติกแข็งตัวก่อนที่จะเข้าไปสุดแม่พิมพ์

วิธีแก้ไข

ในกรณีที่เกิดครีบ

  • แก้ไขแม่พิมพ์ โดยปรับแก้ไขแม่พิมพ์ให้ปิดสนิท ไม่มีพลาสติกไหลออกมา และทำความสะอาดแม่พิมพ์ให้สะอาด เพื่อลดโอกาสการเกิดครีบ 
  • ตั้งค่าเครื่องฉีดพลาสติก โดยปรับเพิ่มหรือลดความเร็วในการฉีดพลาสติก ลดความดันในการฉีดพลาสติก และลดแรงดันกระบอกฉีดและความดันในการฉีดพลาสติกลง 

ในกรณีที่เกิดรอยแหว่ง 

  • ออกแบบแม่พิมพ์ให้มีทางเข้าที่กว้างขึ้น ให้พลาสติกสามารถเข้าไปถึงทุกส่วนของแม่พิมพ์ 
  • เพิ่มความเร็วในการฉีดหรือแรงดัน 
  • เพิ่มอุณหภูมิของแม่พิมพ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นงานเย็นเร็วเกินไป 
  • เพิ่มช่องระบายอากาศ เพื่อไม่ให้มีอากาศค้างอยู่ด้านใน
    ปัญหางานฉีดพลาสติกที่ที่เจอบ่อย ๆ บนชิ้นงาน

    5. ชิ้นงานเกิดฟองอากาศ

    หลายครั้งที่พบฟองอากาศอยู่ในชิ้นงาน ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ แต่หากว่าไม่ได้มีฟองอากาศจำนวนมากก็อาจจะไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้า ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากแรงดันอากาศที่ต่ำเกินไป ส่วนที่อยู่กับแม่พิมพ์เย็นเร็วไป และความหนาแน่นของพลาสติกน้อยเกินไป 

    วิธีแก้ไข

    • เพิ่มแรงดันในการฉีดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีอากาศค้างอยู่ในกระบอกฉีด 
    • เลือกพลาสติกที่มีความหนืดต่ำ 
    • ออกแบบแม่พิมพ์ให้มีทางเข้าที่อยู่ใกล้กับส่วนที่หนาที่สุดของชิ้นงาน 

    6. ประกายเงินที่ผิวชิ้นงาน

    ในกรณีที่ชิ้นงานมีประกายเงินเกิดขึ้นเป็นริ้ว ๆ กระจายอยู่ มักเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น อุณหภูมิของพลาสติกสูงและอยู่ในกระบอกฉีดนาน ทำให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้น จนเกิดความชื้นหรือก๊าซแยกตัวออกมาแล้วกระจายตัวอยู่ในเนื้อพลาสติก 

    วิธีแก้ไข

    • ลดอุณหภูมิของพลาสติกและลดความเร็วในการฉีดลง
    • ไล่ความชื้นในเม็ดพลาสติกก่อนใช้งาน 
    • ขยายทางเข้าให้กว้างขึ้น เพื่อลดความร้อน 

    7. ชิ้นงานเกิดรอยยุบ

      หลายครั้งที่ชิ้นงานเกิดรอยยุบด้านใน ซึ่งมักจะเกิดจากชิ้นงานหดตัว สาเหตุมักเกิดจากพลาสติกด้านนอกเย็นเร็วเกินไป โดยมักจะเกิดขึ้นกับชิ้นงานในส่วนที่มีความหนามากเป็นพิเศษ  

    วิธีแก้ไข

    • ใช้ความดันย้ำให้สูงขึ้น หรือเพิ่มเวลาในการย้ำเพื่อชดเชยการหดตัว 
    • เพิ่มเวลาในการหล่อเย็นให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการหดตัว 
    • ออกแบบแม่พิมพ์ให้ชิ้นส่วนบางลง เพื่อลดโอกาสที่พลาสติกบริเวณผิวนอกจะเย็นเร็วกว่าเนื้อพลาสติกที่อยู่ด้านใน 

    ปัญหางานฉีดพลาสติกแม้จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้โดยการตั้งค่าเครื่องฉีดพลาสติก แต่หากว่าต้องการซื้อเม็ดพลาสติกคุณภาพ ต้องซื้อที่บริษัท ธนวัฒน์อิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต (2001) จำกัด เราขายเม็ดพลาสติกที่ผลิตจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชั้นนำ ราคาไม่แพง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต้องการเม็ดพลาสติกแบบไหน ปรึกษาเราได้เลย 

    ข้อมูลอ้างอิง

    1. 11 Injection Molding Defects And How To Prevent Them. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จาก https://www.intouch-quality.com/blog/injection-molding-defects-and-how-to-prevent 
    2. 13 Plastic Injection Molding Problems And Solutions. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 จาก https://waykenrm.com/blogs/plastic-injection-molding-problems-and-solutions/